ภาษา(Language)

ภาษาภาษาจีน      49.9%

ภาษาอังกฤษ         32.3%

ภาษามาเลย์          12.2%

ภาษาทมิฬ             3.3%

singapore

ภาษาจีน
เป็นหนึ่งในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ชาวจีนส่วนใหญ่ถือภาษาจีนพูดชนิดต่าง ๆ ว่าเป็นภาษาเดียว โดยทั่วไปแล้ว ภาษาพูดในกลุ่มภาษาจีนเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์และไม่อ่านเนื่องเสียง อย่างไรก็ดี ยังมีความแตกต่างกันในภาษาพูดแต่ละภาษาอยู่มาก ความต่างเหล่านี้เทียบได้กับ ความแตกต่างระหว่างภาษาของภาษากลุ่มโรมานซ์ เราอาจแบ่งภาษาพูดของจีนได้ 6 ถึง 12 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง ที่เป็นที่รู้จักดี เช่น กลุ่มแมนดาริน กลุ่มหวู และกลุ่มกวางตุ้ง ยังเป็นที่โต้เถียงกันถึงปัจจุบันว่าภาษาพูดบางกลุ่มควรจัดเป็น “ภาษา” หรือเป็นแค่ “สำเนียง”

ประชากรประมาณ 1/5 ของโลกพูดภาษาจีนแบบใดแบบหนึ่งเป็นภาษาแม่ ทำให้เป็นภาษาที่มีคนพูดเป็นภาษาแม่มากที่สุด สำเนียงพูดที่ถือเป็นมาตรฐาน คือ สำเนียงปักกิ่ง หรือ ภาษาฮั่น ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาแมนดาริน ภาษาจีนกลาง หรือ ภาษาจีนแมนดาริน (Standard Mandarin) เป็นภาษาทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน เป็นหนึ่งในภาษาทางการ 4 ภาษาทางการของประเทศสิงคโปร์ (ร่วมกับ ภาษาอังกฤษ ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ) และเป็นหนึ่งใน 6 ภาษาที่ใช้ในองค์การสหประชาชาติ (ร่วมกับ ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน) ภาษาจีนกวางตุ้ง เป็นภาษาทางการของ ฮ่องกง (ร่วมกับภาษาอังกฤษ) และมาเก๊า (ร่วมกับภาษาโปรตุเกส)

นอกจากนี้ ภาษาเขียนยังได้เปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงของภาษาเขียน ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของภาษาพูดอย่างมาก จึงไม่ถูกจำกัดโดยความเปลี่ยนแปลงของภาษาพูดโดยส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน ภาษาจีนใช้อักษรมาตรฐาน 2 รูปแบบทั่วโลก ได้แก่ อักษรจีนตัวเต็ม และ อักษรจีนตัวย่อ

ภาษาอังกฤษ
เป็นภาษาในกลุ่มภาษาเจอร์เมนิกตะวันตกที่ใช้ครั้งแรกในอังกฤษสมัยต้นยุคกลาง และปัจจุบันเป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก ประชากรส่วนใหญ่ในหลายประเทศ รวมทั้ง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และประเทศในแคริบเบียน พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่ง ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ที่มีผู้พูดมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากภาษาจีนกลางและภาษาสเปน มักมีผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองอย่างกว้างขวาง และภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการของสหภาพยุโรป หลายประเทศเครือจักรภพแห่งชาติ และสหประชาชาติ ตลอดจนองค์การระดับโลกหลายองค์การ

ภาษาอังกฤษเจริญขึ้นในราชอาณาจักรแองโกล-แซ็กซอนอังกฤษ และบริเวณสกอตแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน หลังอิทธิพลอย่างกว้างขวางของบริเตนใหญ่และสหราชอาณาจักรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผ่านจักรวรรดิอังกฤษ และรวมสหรัฐอเมริกาด้วยตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภาษาอังกฤษได้แพร่หลายทั่วโลก กลายเป็นภาษาชั้นนำของวจนิพนธ์ระหว่างประเทศและเป็นภาษากลางในหลายภูมิภาค

ในประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษกำเนิดจากการรวมภาษาถิ่นหลายภาษาที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันเรียกรวมว่า ภาษาอังกฤษเก่า ซึ่งผู้ตั้งนิคมนำมายังฝั่งตะวันออกของบริเตนใหญ่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 5 คำในภาษาอังกฤษจำนวนมากสร้างขึ้นบนพื้นฐานรากศัพท์ภาษาละติน เพราะภาษาละตินบางรูปแบบเป็นภาษากลางของคริสตจักรและชีวิตปัญญาชนยุโรป ภาษาอังกฤษยังได้รับอิทธิพลเพิ่มจากภาษานอร์สเก่าเพราะการบุกครองของไวกิ้งในคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10

การพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทำให้ภาษาอังกฤษยืมคำมาจากภาษานอร์มันอย่างมาก และสัญนิยมคำศัพท์และการสะกดเริ่มให้ลักษณะความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มภาษาโรมานซ์ แก่ภาษาที่ต่อมากลายเป็นภาษาอังกฤษกลาง การเลื่อนสระครั้งใหญ่ (Great Vowel Shift) ซึ่งเริ่มขึ้นทางตอนใต้ของอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการกำเนิดของภาษาอังกฤษใหม่จากภาษาอังกฤษกลาง

เนื่องจากการกลมกลืนคำจากภาษาอื่นมากมายตลอดประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษใหม่จึงมีคำศัพท์ใหญ่มาก โดยมีการสะกดที่ซับซ้อนและไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสระ ภาษาอังกฤษใหม่ไม่เพียงแต่กลมกลืนคำจากภาษาอื่นของยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมภาษาอื่นทั่วโลกด้วย พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ดแสดงรายการคำไว้กว่า 250,000 คำ ซึ่งยังไม่รวมศัพท์เทคนิค วิทยาศาสตร์และสแลง

ภาษามาเลย์
เป็นภาษากลุ่มออสโตรนีเชียน ที่พูดโดยชนชาติมลายูซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของคาบสมุทรมลายู ทางใต้ของประเทศไทย ประเทศสิงคโปร์ และบางส่วนของเกาะสุมาตรา เป็นภาษาทางการของประเทศมาเลเซียและประเทศบรูไน และเป็น 1 ใน 4 ภาษาทางการของประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่แพร่หลายในประเทศติมอร์-เลสเต

ในการใช้ภาษาเกมทั่วไป ถือว่าเหมือนกัน หรือสื่อสารเข้าใจกันได้กับภาษาอินโดนีเซีย (บาฮาซาอินโดนีเซีย) อันเป็นภาษาทางการของประเทศอินโดนีเซีย แต่ใช้ชื่อแยกต่างกันด้วยเหตุผลทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในพื้นที่ต่างกัน การใช้ภาษา รสนิยมทางภาษา จึงแตกต่างกันไป แต่ไม่มากนัก

มาตรฐานอย่างเป็นทางการของภาษามลายูนั้น มีการตกลงร่วมกันระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ว่าใช้บาฮาซารีเยา (Bahasa Riau) เป็นมาตรฐาน อันเป็นภาษาของหมู่เกาะรีเยา ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของภาษามลายูมาช้านาน

ภาษาทมิฬ
เป็นหนึ่งใน ตระกูลภาษาดราวิเดียน เป็นหนึ่งในภาษาคลาสสิกของโลก วรรณกรรมภาษาทมิฬได้มีมาเป็นเวลา 2,500 ปีแล้ว และเป็นภาษาคลาสสิกภาษาแรกที่มีพัฒนาการเขียนแบบเฉพาะสำหรับบทกวี

หลักฐานเริ่มแรกของภาษทมิฬมีอายุราว พ.ศ. 243 ภาษานี้พบในอินเดียในฐานะภาษาที่มีวรรณกรรมมากในยุคสันคัม (พ.ศ. 243 – 843) เป็นภาษาที่พบในจารึกมากที่สุดในเอเชียใต้ โดยพบถึง 30,000 ชิ้น วรรณกรรมภาษาทมิฬในยุคสันคัมเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของตระกูลภาษาดราวิเดียนด้วย การเก็บรักษาวรรณกรรมในอินเดียมี 2 แบบคือ เขียนลงบนใบลานหรือท่องจำแบบมุขปาฐะ นักวิชาการของภาษาทมิฬแบ่งภาษาออกเป็นสามยุคคือ ภาษาทมิฬโบราณ ภาษาทมิฬยุคกลาง ภาษาทมิฬยุคใหม่